นิทรรศการ

ระบบเซนเซอร์เฝ้าระวังกลิ่นจากฟาร์มปศุสัตว์

Facebook
Twitter

ผลกระทบทางกลิ่นจากฟาร์มปศุสัตว์นั้น เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดการพิพาธระหว่างเจ้าของกิจการฟาร์ม และผู้อยู่อาศัยในชุมชนใกล้เคียง โดยสาเหตุหลักนั้นมักมาจากกระบวนการจัดการของเสียอันได้แก่ มูล ปัสสาวะ น้ำเสียจากกระบวนการทำงานในฟาร์มเหล่านั้น ฯลฯ เมื่อของเสียดังกล่าวเกิดการหมักหมมและย่อยสลายจะก่อให้เกิดการคายแก๊สที่มีกลิ่นรุนแรง โดยเฉพาะ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ แอมโมเนีย และแก๊สในกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ระเหย (VOCs) ซึ่งหากไม่มีการจัดการหรือการเฝ้าระวังที่ดีพอก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในชุมชนใกล้เคียงได้ ในขณะที่การตรวจวัดกลิ่นจากฟาร์มปศุสัตว์โดยทั่วไปนั้นสามารถทำได้โดยเซนเซอร์ตรวจวัดแก๊ส ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนสูงแทบทั้งสิ้น

ในงานวิจัยชิ้นนี้เราได้พัฒนาชุดเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดแก๊สในกลุ่มดังกล่าว โดยอาศัยเทคโนโลยีแก๊สเซนเซอร์พลังงานต่ำบนพื้นฐานเทคโนโลยีแอลทีซีซี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีฐานที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศเป็นหัวใจสำคัญของระบบในการตรวจวัด และเฝ้าระวังกลิ่นที่เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้ดำเนินกิจการฟาร์มสามารถบริหารจัดการมลพิษทางกลิ่นที่เกิดขึ้นภายในฟาร์มได้อย่างทันท่วงที

แก๊สเซนเซอร์อาเรย์ 10 ช่องวัด สำหรับการจำแนกกลิ่นในลักษณะจมูกอิเล็กทรอนิกส์ ที่พัฒนาขึ้นภายในห้องปฏิบัติการ

คุณลักษณะ

  • ตรวจวัดแก๊สในกลุ่ม H2S, NH3 และ VOCs 
  • สื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่าย IoT
  • ใช้เทคโนโลยีฐานแก๊สเซนเซอร์พลังงานต่ำบนพื้นฐานเทคโนโลยีแอลทีซีซี

จุดเด่น

  • เป็นเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดแก๊สที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศ
  • เซนเซอร์แต่ละช่องวัดใช้พลังงานต่ำ (40 – 70 mW)
  • สื่อสารข้อมูลแบบเรียลไทม์

ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย

  • ฟาร์มปศุสัตว์ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ 
  • หน่วยงานหรือชุมชนที่ต้องการเฝ้าระวังผลกระทบทางกลิ่นในพื้นที่

สถานภาพการพัฒนา

  • พัฒนาต้นแบบเสร็จสมบูรณ์ อยู่ระหว่างการทดสอบในภาคสนาม
  • เซนเซอร์ดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตามคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 1801005900 เรื่อง อุปกรณ์รับรู้แก๊ส และกระบวนการสร้างอุปกรณ์ดังกล่าว ถือสิทธิ์โดย สวทช.  

หน่วยงานพันธมิตร

  • คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้การสนับสนุนการทดสอบภาคสนามและ สนับสนุนวัสดุตอบสนองแก๊ส
  • คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนวัสดุตอบสนองแก๊ส
  • GPERD, NSTDA สนับสนุนการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี (SPD)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง 
อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทร. 0 2564 6900 ต่อ 2346, 2351-54, 2357, 2359, 2361, 2383-84, 2404, 72732, 72744 
อีเมล business@nectec.or.th