นิทรรศการ

Aqua-IoT นวัตกรรมเพื่อฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

Facebook
Twitter

ระบบตรวจสอบสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ด้วยเทคโนโลยี IoT หรือเรียกว่า “Aqua IoT” เป็นผลงานวิจัยในกลุ่ม Aqua Series ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) เหมาะในการใช้เป็นระบบเฝ้าระวัง ตรวจติดตาม แจ้งเตือน สภาวะในบ่อเลี้ยง โดยเก็บข้อมูลผลการตรวจผ่านระบบ IoT มีการวิเคราะห์สภาพบ่อเลี้ยงแบบ Real-time ผ่านระบบ cloud นอกจากนั้นเกษตรกรยังสามารถนำข้อมูลที่บันทึกมาใช้ในการวางแผน และปรับวิธีการเพาะเลี้ยงตามความเหมาะสม อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเกษตรกรผู้เลี้ยงให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืน และตอบโจทย์ประเทศ 4.0 ในอนาคต

Aqua IoT  เป็นระบบอัจฉริยะเพื่อเฝ้าระวังปริมาณออกซิเจนละลาย ระบบกล้องตรวจจุลชีวขนาดเล็กในน้ำ การขยายจำนวนอย่างรวดเร็วของเชื้อแบคทีเรีย และความผิดปกติของสารเคมีในน้ำสำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง คือการผนวกเอาเทคโนโลยีการตรวจสอบปริมาณออกซิเจนละลาย ตรวจจุลชีวขนาดเล็ก Growth Curve ของเชื้อจุลินทรีย์ และสารเคมีเข้ากับ IoT ซึ่งมีความฉลาดที่สามารถวิเคราะห์ผลการทดสอบได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ มีการบันทึก และส่งผลการทดสอบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เพาะเลี้ยงให้สามารถควบคุมและตรวจสอบผลการทดสอบจากระยะไกล จึงทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการบ่อเพาะเลี้ยงมากยิ่งขึ้น โดยสามารถแจ้งเตือนสภาพขาดอากาศ สภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากแบคทีเรียในสกุล Vibrio แก่ผู้เพาะเลี้ยงได้ ภายใน 24 ชม. หรือพบสภาวะผิดปกติของสารเคมีในน้ำ เช่น ค่ากรด-ด่าง ค่าไนไตรท์ ค่าแอมโนเนีย ความกระด้าง และคลอรีน เป็นต้น รวมทั้งมีระบบให้คำปรึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหน้าฟาร์มจากผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ทำให้การบริหารจัดการฟาร์มในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีหลัก

Aqua IoT มีส่วนประกอบ 4 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่

1. ระบบตรวจวัด ติดตาม แจ้งเตือน ค่าออกซิเจน (DO) ที่ละลายในน้ำแบบทันท่วงที
เป็นระบบเพื่อการตรวจ ติดตาม แจ้งเตือน เก็บข้อมูล เป็นระบบที่จะช่วยในการเฝ้าระวัง ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการผลิตสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และวางแผนป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะต่างๆ ในบ่อเลี้ยงได้ โดยเฉพาะ ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ สามารถรวจวัดค่าออกซิเจนละลายตลอด 24 ชั่วโมง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจากการที่ระดับที่ออกซิเจนต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม บันทึกข้อมูลการทำงานและค่าการตรวจวัด ทำให้สามารถวิเคราะห์และปรับปรุงการเลี้ยงในรอบถัดๆไป ได้สะดวก รวมทั้งติดตามข้อมูลการตรวจวัดได้ทันทีผ่านทางโทรศัพท์ มีระบบไฟฉุกเฉินหน้าบ่อ เตือนค่าออกซิเจนละลายต่ำ

2. ระบบกล้องตรวจจุลชีวขนาดเล็กในน้ำ
เป็นระบบเพื่อช่วยในการตรวจสภาพทางกายภาพของสัตว์น้ำหรือสิ่งต่างๆ ที่มีขนาดเล็กๆ ที่ตาเปล่ามองเห็นไม่ชัดหรือมองไม่เห็น ทำให้สังเกตเห็นความปกติหรือผิดปกติต่างๆ ของสัตว์น้ำวัยอ่อนขนาดเล็กได้ รวมไปถึงปรสิตที่อาจเกาะอยู่ภายนอกตัวสัตว์น้ำ หรือจุลชีพขนาดเล็กในบ่อเพาะเลี้ยงได้ โดยมีคุณสมบัติการเชื่อมต่อผ่าน USB เพื่อแสดงผลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ 

3. ระบบอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตาสำหรับตรวจคุณภาพน้ำบ่อเลี้ยง
เป็นอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพของสารเคมีในน้ำแทนการอ่านค่าสีด้วยตาเปล่าบนกระดาษเทียบสี  ป้องกันความผิดพลาดในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ซึ่งสามารถตรวจสอบสารเคมีได้หลากหลายชนิด เช่น ไนไตรท์ กรด-ด่าง แอมโมเนียม คลอรีน และความกระด้าง ทั้งก่อน ระหว่างการเลี้ยง รวมไปถึงน้ำที่จะระบายทิ้ง เพื่อจัดการดูแล แก้ไข อย่างถูกต้อง แม่นยำ บันทึกข้อมูลและดูข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ต่างๆ ได้ โดยอุปกรณ์บันทึกภาพ มีทั้งแบบ external หรือ on-Board สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือ Wifi  และเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นๆ ผ่าน Bluetooth มีน้ำหนักเบา และพกพาได้สะดวก

4. ระบบตรวจรูปแบบของจุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
เป็นระบบที่ใช้ในการตรวจดูสภาวะทางชีวภาพของบ่อเพาะเลี้ยง โดยการตรวจดูรูปแบบการเติบโตของจุลินทรีย์ในบ่อเลี้ยงหรือโปรไบโอติกในสภาวะอาหารเลี้ยงเชื้อที่จำลองสภาวะบ่อเลี้ยงในแบบต่างๆ สามารถติดตามการเจริญเติบโตของจุลชีพแบบต่อเนื่อง ทั้งในตัวอย่างดินหรือเลน ในน้ำ ของบ่อเลี้ยง ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลี้ยง รวมไปถึงการตรวจการทำงานของจุลินทรีย์หรือโปรไบโอติกที่จะเติมลงไปในบ่อเลี้ยงในสภาวะต่างๆ ช่วยในการจัดการสภาพทางชีววิทยาในบ่อเพาะเลี้ยงอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้สัตว์น้ำมีการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดีในสิ่งแวดล้อมที่มีความสมดุล

การถ่ายทอดเทคโนโลยี

Aqua IoT  ได้มีผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้วจำนวน 3 ราย คือ 

  • บริษัท Aquatic control
  • บริษัท มารีน ลีดเดอร์ จำกัด 
  • บริษัท เทรดดิงเทค เอเชีย จำกัด 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี (SPD)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง 
อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทร. 0 2564 6900 ต่อ 2346, 2351-54, 2357, 2359, 2361, 2383-84, 2404, 72732, 72744 
อีเมล business@nectec.or.th