MENU
Banner

โครงการเพื่อนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  ได้จัดงานแถลงข่าว “โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการเขียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยบูรณาการการใช้ซอฟต์แวร์ช่วยการเขียนในการเรียนการสอน” เมื่อวันที่  30 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา โดยมี น.ส.เสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมงาน

“โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการเขียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยบูรณาการการใช้ซอฟต์แวร์ช่วยการเขียนในการเรียนการสอน”  เป็นโครงการที่เนคเทคได้พัฒนาชุดซอฟต์แวร์ช่วยการเขียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดย ร่วมมือกับสพฐ. นำมาถ่ายทอดความรู้ให้กับครูผู้สอนและนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ทั่วประเทศไทย ในรูปแบบการจัดค่ายพัฒนาศักยภาพด้านการเขียนสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ โดยจำลองสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่มุ่งเน้นและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านการเขียนให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ของนักเรียนซอฟต์แวร์ช่วยการเขียนในการเรียนการสอน ประกอบไปด้วยซอฟต์แวร์ 4 รายการ ได้แก่ 

-โปรแกรมเลือกศัพท์ไทย (Thai Word Prediction) มีคุณสมบัติคือช่วยเดาคำศัพท์เป้าหมายและเติมเต็มคำศัพท์ให้สมบูรณ์ พร้อมทั้งเดาคำศัพท์คำต่อไปโดยจะมีรายการคำศัพท์แสดงที่ผู้ใช้สามารถเลือกคำศัพท์จากการฟังเสียงอ่านได้

-โปรแกรมค้นหาศัพท์ไทย (Thai Word Search) มีคุณสมบัติคือสามารถพิมพ์คำศัพท์ใดๆ เพื่อค้นหาคำศัพท์ที่เขียนถูกต้อง โดยโปรแกรมจะแสดงรายการคำศัพท์ที่ถูกต้องหรือใกล้เคียงเพื่อให้เลือก ผู้ใช้สามารถเลือกคำศัพท์จากการฟังเสียงอ่านได้ 

-โปรแกรมตรวจคำผิดไทย (Thai Spell Checker) มีคุณสมบัติคือช่วยตรวจสอบงานพิมพ์ว่ามีคำที่สะกดผิดหรือไม่  หากพบที่ผิด โปรแกรมจะแสดงว่ามีคำศัพท์ใดบ้างในเอกสารที่อาจจะผิด และแสดงรายการคำที่ถูกต้องให้เลือกพร้อมการอ่านออกเสียง

-โปรแกรมพิมพ์ไทย (Thai Word Processor) มีคุณสมบัติพิเศษ ประกอบด้วยฟังก์ชันเลือกศัพท์ไทย ฟังก์ชันค้นหาศัพท์ไทย และฟังก์ชันตรวจคำผิดไทย  นอกจากนี้โปรแกรมพิมพ์ไทยจะมีคุณสมบัติเพิ่มเติมคือผู้ใช้สามารถเลือกให้โปรแกรมอ่านข้อความได้ในระดับคำ ระดับประโยคและย่อหน้า พร้อมทั้งแสดงแถบสีขณะอ่านออกเสียง

และในโอกาสนี้ ยังได้จัดพิธีมอบงบประมาณการสนับสนุนการจัดกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพการเขียนสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ สืบเนื่องมาจากในปี 2556 - 2558 ที่ผ่านมา สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาสำหรับคนพิการ กระทรวงศึกษาธิการ จำนวนกว่า 40 ล้านบาท และได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้การใช้งานชุดซอฟต์แวร์ช่วยการเขียน โดยจัดกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการเขียน ด้วยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับครูที่ต้องสอนนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 934 โรงเรียน และในปีนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต มีการขยายผลการนำชุดซอฟต์แวร์ไปใช้ในโรงเรียนในพื้นที่อีก 66 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 60 ล้านบาท รับการดำเนินงานของโครงการนี้ สวทช. และ สพฐ. ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาครัฐ 4 แห่งในการเป็นศูนย์ประสานงานการถ่ายทอดความรู้ โดยการจัดค่ายพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย

  1. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 15 จังหวัด

  2. สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาค ในพื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ภาคใต้ตอนบน รวม 21 จังหวัด

  3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาค ในพื้นที่ภาคเหนือ รวม 15 จังหวัด

  4. มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 15 จังหวัด

โครงการนี้มีเป้าหมายที่ให้ครูและนักเรียนได้รับการถ่ายทอดความรู้จำนวนทั้งสิ้น 9,240 คน แบ่งเป็น ครู 4,620 คน และนักเรียน 4,620 คน จาก 2,310 โรงเรียน ใน 66 จังหวัด 

สำหรับครูที่ได้รับการอบรมนี้ จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับคณะครูในโรงเรียนของตนเอง ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยขยายโอกาส สร้างความเท่าเทียมในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ เพื่อช่วยให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป