คว้าสุดยอดรางวัลใหญ่จากเวทีการแข่งขันโครงงานทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก Intel ISEF 2011
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2554 ณ Los Angeles, California, USA ตลอดระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์ของการแข่งขันประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก Intel International Science and Engineering Fair หรือ Intel ISEF 2011 ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-13 พฤษภาคม 2554 ณ Los Angeles Convention Center, Los Angeles, California, USA ซึ่งในปีนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่ได้รวบรวมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จำนวนกว่า 1,545 คน จาก 65 ประเทศทั่วโลก โดยมีเงินรางวัลมูลค่าสูงถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยก็ไม่ทำให้คนไทยทั้งประเทศผิดหวัง เพราะสามารถคว้ารางวัลสูงสุดในการประกาศผลรางวัล Grand Award ในเวที Intel ISEF 2011 ในวันนี้ นั่นคือ รางวัล Intel Foundation Young Scientist Awards ซึ่งมีมูลค่าเงินรางวัลสูงถึง 50,000 เหรียญสหรัฐ โดยเป็นรางวัลที่ บริษัท Intel และสมาคม Society for Science and the Public ประเทศสหรัฐอเมริกาคัดเลือกสุดยอดโครงงานที่ดีที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้ เพียง 2 โครงงาน ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลนี้คือ ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย ได้แก่ นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ นางสาวธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ และนางสาวอารดา สังขนิตย์ ผู้พัฒนา "โครงงานพลาสติกจากเกล็ดปลา (Bio-Based Packaging Plastics from Fish Scale)" จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา อาจารย์ที่ปรึกษา คือ อาจารย์เฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ และอาจารย์สุวารี พงศ์ธีระวรรณ นับเป็นครั้งแรกที่เยาวชนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งโครงงานนี้เป็นโครงงานที่สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรม ราชูปถัมภ์ คัดเลือกเข้าร่วมประกวดในเวที Intel ISEF
นอกจากนี้โครงงานดังกล่าวยังได้รับรางวัล Intel Best of Catagory Awards ในสาขา Environmental Management ซึ่งมีมูลค่าเงินรางวัล 5,000 เหรียญสหรัฐ และได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 1 ในสาขาเดียวกัน มูลค่าเงินรางวัล 3,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งชื่อของเยาวชนไทยทั้ง 3 คนนี้จะได้รับเกียรติให้นำไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet) โดย Massachusetts Institute of Technology - Lincoln Laboratory, Ceres Connection
การแข่งขันประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก Intel International Science and Engineering Fair หรือ Intel ISEF จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเยาวชนที่ชนะเลิศจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competiton: YSC) ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะมีการประกวดในช่วงเดือนสิงหาคม และกุมภาพันธ์ของทุกปี
Eco Plasticพลาสติกจากเกล็ดปลา (Bio-based Packaging Plastics from Fish Scale)
จากกระแสการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นธุรกิจที่สามารถลดการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียมจึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ และเป็นที่นิยม โครงงานเรื่องพลาสติกจากเกล็ดปลาจัดทำขึ้นเพื่อผลิตพลาสติกที่มีความยืดหยุ่น ทนต่อแรงดึง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถสลายตัวได้ง่ายในดิน ใช้วัสดุจากธรรมชาติและสามารถบริโภคได้กับทุกศาสนา ขั้นตอนการผลิตโดยการเตรียมเจลาตินจากเกล็ดปลากะพง ด้วยการแช่เกล็ดปลากระพงในสารละลายNaOH เข้มข้น 2% นาน 2.5 ชั่วโมง แยกเจลาตินด้วยกรดอะซิติกเข้มข้น 2% นาน 2.5 ชั่วโมง จะได้มวลเจลาตินสูงกว่าใช้เกล็ดปลานิลและปลาทับทิม โดยมีค่าความแข็งแรงอยู่ที่ 8.97 , 5.93 และ 6.72 MPa ตามลำดับ เจลาตินที่เตรียมได้จากกรดซัลฟิวริก กรดอะซิติก กรดไฮโดรคลอริก ยางมะละกอ และน้ำสับปะรด มีค่ามวลเจลาตินจากการใช้ยางมะละกอเข้มข้น 60% ได้มวลสูงที่สุดคือ 9.21 g ทนต่อแรงดึง 22.48 MPa เป็นค่าการทนต่อแรงดึงต่ำสุด ส่วนกรดอะซิตริกเข้มข้น 2.0% มีค่ามวลเจลาติน 8.83 g แต่มีค่าการทนต่อแรงดึงสูงสุดคือ 25.99 MPa ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะต่อการนำมาผลิตพลาสติก เนื่องจากมีความทนทานต่อแรงดึง และมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการใช้ยางมะละกอ เจลาตินที่ได้เมื่อทำเป็นแผ่นยังขาดความยืดหยุ่น การปรับปรุงเจลาตินให้เป็นพลาสติก ด้วยผสมเจลาตินต่อแป้งข้าวโพดต่อกลีเซอรีน ในอัตราส่วน 10 : 5: 2 และปรับปรุงคุณสมบัติด้วยการใช้ CaCO3 มวล 5 กรัม และเอทิลแอลกอฮอล์ 1 % ปริมาตร 10 cm3 ซึ่งเป็นพลาสติไซเซอร์ จะทำให้เจลาตินมีการเชื่อมโยงพันธะระหว่างโปรตีนและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโปรตีน ทำให้เปลี่ยนจากโครงสร้างที่ละลายน้ำง่ายเป็นโครงสร้างที่ละลายน้ำยาก อัดตัวกันอยู่แน่น ลักษณะสมบัติทางกายภาพของเจลาตินที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพทนต่อแรงดึง Tensile strength 22.51 MPa ค่า Tear Strength 8.67 KN/m พลาสติกที่ผลิตขึ้นมีการอ่อนตัวลงเล็กน้อยเมื่ออยู่ในน้ำ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่ออยู่ในน้ำมัน มีความยืดหยุ่น คืนตัวได้สูงในสภาพแห้ง เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นจะมีความแข็งเพิ่มขึ้น มีมวลเบา ย่อยสลายในดินได้หมดในเวลา 28 วัน ไม่ส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์ในดิน ราคาต้นทุนต่ำ ราคาต่อหน่วย 0.35 บาท
ผู้พัฒนา : นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ นางสาวอารดา สังขนิตย์ และ นางสาวธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์
โรงเรียน : สุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่ปรึกษา : นางสุวารี พงศ์ธีระวรรณ และนายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ
โครงงานนี้ได้รับ 3 รางวัล จากการประกวดในงาน Intel ISEF 2011 ณ เมือง Los Angeles มลรัฐ California ได้แก่
- รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากมูลนิธิอินเทล (Intel Foundation Young Scientist Award)
- รางวัลชนะเลิศ Best of Category Award สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management)
- รางวัล Grand Awards อันดับที่ 1 สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management)
โครงงานนี้ยังได้รับ 2 รางวัล จากการประกวดในงาน I-SWEEEP 2011 ที่เมือง Houston มลรัฐ Texas ได้แก่
- รางวัลที่ 1 Gold Medal สาขาสิ่งแวดล้อม
- รางวัลพิเศษด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (NAC Environmental-Friendly Technology Award)