MENU
Banner

ลดช่องว่างชุมชนชายขอบด้วย3G อินเทอร์เน็ตและไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์

เมื่อวันที่11พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. พร้อมด้วยคณะนักวิจัยจาก เนคเทค/สวทช. (ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ดร.อัศวิน หงส์สิงห์ทอง นางสาววันทนีย์ พรรณชาติ และ นายณัฐกานต์ อุดมเดชาณัติ) ร่วมกับรองเลขาธิการกรมการศึกษานอกโรงเรียน (นายกิตติศักดิ์ รัตนฉายา) และคณะ (นายศุภกร ศรีศักดิ์ดา ผู้อำนวยการ สนง.กศน. จังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญ ธรรมบัญฑิต ผอ.กศน.อำเภออมก๋อย และนางศิราณี อิ่มสุวรรณ์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สำนักงาน กศน.) ได้เดินทางไปเยี่ยมและตรวจการทำงานของระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 0.75 kWatt peak และระบบอินเทอร์เน็ตผ่าน3Gด้วยความร่วมมือระหว่างเนคเทค/สวทช กรมการศึกษานอกโรงเรียนและ AIS ที่ ศศช.บ้านห้วยกว้างใหม่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ (ศศช. ย่อมาจาก ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”)

คณะทำงานจากทั้งสามแห่งร่วมกันติดตั้งระบบทั้งสองด้วยการบริจาคของบริษัท AIS ตั้งแต่ต้นปี2559 ศศช.บ้านห้วยกว้างใหม่อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 2 ชั่วโมง เดินทางเข้าไปด้วยรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อไปตามเส้นทางวกวนขึ้นลงไปตามไหล่ดอย ซึ่งปกติรถยนต์จะเข้าถึงได้เฉพาะหน้าแล้ง ชาวบ้านและครูใช้รถจักรยานยนต์เป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้ครูนักเรียนและชาวบ้านสามารถใช้โทรศัพท์ สัญญาณ 3G โซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง Line และ Facebook ได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 2 เครื่องที่สามารถใช้ 3G เข้าถึงเว็บไซต์ของระบบ eLearning-on-demand เรียกว่า eDLTV ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (https://edltv.dlf.ac.th/primary/index.php) ซึ่งบรรจุเนื้อหาของการสอนทางไกลจากมูลนิธิการศึกษาผ่านดาวเทียมทางไกลเอาไว้

นอกจากคณะทำงานจะได้รับทราบเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยแล้ว ครูและนักเรียนยังได้แสดงวิธีใช้งานอินเทอร์เน็ตที่หลากหลาย เช่น ค้นหาวิธีทำกล้วยฉาบจากเนื้อหาวิชาชีพของ eDLTV แล้วให้คณะทำงานได้ลองชิม นอกจากนี้ยังมี “กาแฟตำ”เลี้ยงหลังมื้ออาหารกลางวัน เป็นกาแฟที่ครูปลูกเอง นำมาคั่วแล้วตำละเอียดไว้ชงดื่มเอง โดยศึกษากรรมวิธีและความรู้ต่างๆ จาก Youtube รวมทั้งการประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตถึงนักวิจัยของเนคเทคที่กรุงเทพฯ อีกด้วย

เทคโนโลยีที่คณะทำงานนำไปติดตั้งเริ่มเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน การที่ชาวบ้านมีสัญญาณโทรศัพท์ใช้ทำให้์สะดวกในการติดต่อกับลูกหลานที่อาศัยในเมืองและยังใช้สอบถามราคาพืชผล ระบบไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ช่วยอำนวยความสะดวกเวลาเรียนกลางคืน ซึ่งความพิเศษเกี่ยวกับระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ คือ การใช้โทรมาตรส่งข้อมูลการทำงานของระบบดังกล่าวผ่าน3Gมายังเนคเทค/สวทช. ทำให้ทราบสถานะการทำงานตลอด24ชั่วโมง หากพบว่าชำรุดก็สามารถแจ้งให้ครูบำรุงรักษาเบื้องต้นผ่านมือถือหรือlineได้ แต่หากแก้ไม่ได้ก็ส่งช่างไปซ่อมได้ ส่งผลให้ผู้ใช้ได้รับบริการที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอและยั่งยืนตามข้อตกลงระดับการให้บริการ (SLA: Service Level Agreement) ต่างจากในอดีตที่ติดตั้งแล้วไม่มีการติดตามด้านบำรุงรักษา

การศึกษาสำหรับชุมชนถิ่นทุรกันดารให้สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้เป็นการลดช่องว่างอันสำคัญ (https://www.omkoi-nfe.com/home/hilltribe-education) มูลนิธิการศึกษาผ่านดาวเทียมทางไกลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ลดช่องว่างนี้มานานแล้วตั้งแต่พ.ศ.2538 (https://www.dlf.ac.th) นับจากนี้ไปจะได้เริ่มวิวัฒนาการเข้าสู่ยุค3G, eLearning-on-demandและSocial Mediaของศตวรรษที่21เพื่อลดช่องว่างให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ

อำเภออมก๋อยมี ศศช.หมู่บ้าน112 แห่ง จาก 789 แห่งในประเทศไทย คงจะต้องมีนวัตกรรมทั้งด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่จะทำอย่างไรให้ครอบคลุมได้มากที่สุด...