MENU
Banner

ประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Discovery through Mueye Portable Microscope ณ สปป.ลาว

วันที่ 27 มิถุนายน 2559 ณ เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว – ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และวิทยาลัยครูปากเซ ได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ASEAN Discovery through Mueye Portable Microscope” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเอาผลงานและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทยมาถ่ายทอดให้แก่ สปป.ลาว  รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาใน สปป.ลาว ได้ใช้เลนส์มิวอายผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อทดแทนกล้องจุลทรรศน์ที่มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างๆ โดยเปลี่ยนมือถือให้เป็นกล้องจุลทรรศน์ดิจิทัลแบบพกพา นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการนำผลงานวิจัย และองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย  มาถ่ายทอดให้แก่ สปป.ลาว เพื่อส่งเสริมให้เกิดความความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไปในอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก โครงการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับประเทศอาเซียน ปีงบประมาณ 2559 ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การประชุมเชิงปฏิบัติการ “ASEAN Discovery through Mueye Portable Microscope” ได้รับความสนใจจากครูและอาจารย์ในเมืองปากเซเป็นอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นจำนวน 70 คน สำหรับกิจกรรมในช่วงเช้านั้น ผู้อำนวยการวิทยาลัยครูปากเซ (Mr. Khamphiane Mekchone) ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน หลังจากนั้น คณะนักวิจัยจากเนคเทคนำโดย ดร.ศุภนิจ พรธีระภัทร หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ หน่วยวิจัยอุปกรณ์และระบบอัจฉริยะ ได้ส่งมอบเลนส์มิวอายให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมทั้งสาธิตวิธีการใช้เพื่อส่องหาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก อาทิ จุลินทรีย์ในน้ำ ตัวอ่อนของแมลง เซลล์ของพืช ฯลฯ โดยได้แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 7 กลุ่ม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถซัก-ถามเกี่ยวกับการใช้เลนส์มิวอายจากนักวิจัยได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของกิจกรรมได้มีการประกวดภาพถ่ายที่ได้จากแต่ละกลุ่ม และมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่สามารถถ่ายภาพได้อย่างมีศิลปะ สามารถนำเสนอมุมมองที่แตกต่างและถ่ายทอดความมีชีวิตของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้

“เลนส์มิวอาย” นับว่าเป็นผลงานวิจัยชิ้นแรกจากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโตนิกส์ (PTL) ที่ได้รับการสนับสนุนผ่านการระดมทุนหรือ Crowdfunding โดยเป็นนวัตกรรมที่ได้ยื่นจดสิทธิบัตรการผลิตเพื่อต้องการให้ครู อาจารย์ นักเรียน และผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถนำไปใช้เพื่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์โดยใช้ทดแทนกล้องจุลทรรศน์ที่มีราคาสูงมากในท้องตลาด ปัจจุบัน “เลนส์มิวอาย” ได้รับการออกแบบให้มีความสามารถในการเพิ่มศักยภาพให้กับกล้องที่ติดมากับอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือโดยสามารถบันทึกภาพของวัตถุขนาดเล็กได้ง่ายขึ้น เพื่อให้นักเรียนหรือบุคคลทั่วไปได้มีโอกาสใช้เลนส์ผ่านสมาร์ทโฟนทดแทนกล้องจุลทรรศน์ที่มีจำนวนไม่เพียงพอ โดยการเปลี่ยนแท็บเล็ตให้เป็นกล้องจุลทรรศน์ดิจิทัลแบบพกพา