MENU
Banner

เนคเทคจัดโครงการประกวดคลิปสั้น “เกษตรกรรมสู้ภัยแล้ง”

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินงานโครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร (Agricultural Data Integration and Zoning Optimization Modeling) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม ส่งผ่านไปยังเกษตรกรและประชาชนที่สนใจสามารถเรียนรู้เทคนิคการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งเนื้อหาองค์ความรู้ จะอยู่ในรูปแบบสื่อมัลติมีเดียที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ในคลังทรัพยากรสารสนเทศด้านการเกษตรให้มีความหลากหลาย ศูนย์ฯ จึงได้จัดประกวดคลิปสั้น“เกษตรกรรมสู้ภัยแล้ง” เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมส่งคลิปสั้นเข้าประกวด โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะถูกเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์โครงการ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนต่อไป

คุณสมบัติผู้สมัครเข้าร่วมการประกวด

  1. ไม่จำกัดอายุ เพศ และระดับการศึกษา
  2. ผู้เข้าประกวดสามารถส่งผลงานคลิปสั้นได้มากกว่า 1 ผลงาน

กติกา/เงื่อนไขการสมัคร

  1. เนื้อหาต้องเกี่ยวกับเกษตรกรรมเพาะปลูกพืชสู้ภัยแล้งหรือเทคนิคเกษตรกรรมที่ใช้น้ำน้อย โดยเนื้อหาต้องแสดงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพาะปลูก, เทคนิคการใช้น้ำ/ให้น้ำในการเพาะปลูกเป็นอย่างน้อย
  2. เนื้อหาต้องถ่ายทอดจากเกษตรกรที่เพาะปลูกจริง สามารถอ้างอิงที่มาได้
  3. คลิปสั้นจะต้องมีความยาว 7-10 นาที ไม่จำกัดไอเดียและรูปแบบการนำเสนอ
  4. ไฟล์คลิปสั้นต้นฉบับที่ส่งจะต้องเป็นไฟล์ที่มีคุณภาพในระดับ HD ขึ้นไปในรูปแบบ MP4 เท่านั้น
  5. คลิปสั้นที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผลงานที่ผลิตขึ้นใหม่ ไม่คัดลอกแนวคิด ดัดแปลง ทำซ้ำ และเคยประกวดที่ใดมาก่อนซึ่งถ้าคณะกรรมการพิจารณาได้ว่าเกิดการคัดลอกแนวคิด ดัดแปลง ทำซ้ำ และเคยประกวดที่ใดมาก่อนจะตัดสิทธิ์ทันที
  6. คลิปสั้นที่ส่งเข้าร่วมประกวด ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นผู้รับผิดชอบต่อลิขสิทธิ์ ได้แก่ เนื้อหา ภาพ เสียง คลิป วิดีโอ ซอฟต์แวร์ หรืออื่นใดที่ใช้ในการผลิตผลงาน โดยต้องไม่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา และมีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน
  7. ศูนย์ฯ ไม่มีส่วนรับผิดชอบในส่วนใดๆ ทั้งสิ้น กรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์
  8. ศูนย์ฯ จะเก็บรักษาเอกสารการเข้าร่วมกิจกรรม และผลงานที่ส่งเข้าประกวดทุกชิ้นไว้โดยไม่มีการส่งคืนผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ
  9. ผู้ส่งคลิปสั้นเข้าประกวดยินยอมให้ศูนย์ฯ นำผลงานออกเผยแพร่หรือใช้ประโยชน์อื่นๆ ในกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์ฯ ได้ และถือเป็นลิขสิทธิ์ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
  10. ศูนย์ฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามกติกา/เงื่อนไข ข้างต้น
  11. ผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

เกณฑ์การตัดสิน

คณะกรรมการพิจารณาประกอบด้วยผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาผลงานทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดและให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. ความสอดคล้องกับหัวข้อการประกวดและความความถูกต้องเหมาสมกับเนื้อหา 30 คะแนน
  2. การเรียบเรียงเรื่องราว และการถ่ายทอดที่เป็นประโยชน์และเข้าใจได้ง่าย 30 คะแนน
  3. ความคิดสร้างสรรค์ เทคนิคการนำเสนอที่ก่อให้เกิดการจดจำ 20 คะแนน
  4. คุณภาพการผลิตภาพ เสียง การตัดต่อ ความสวยงาม 10 คะแนน
  5. คลิปสั้นที่ท่านส่งเข้าประกวดมียอดชื่นชอบใน YouTube: What2Grow 10 คะแนน

ประเภทรางวัล

รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร

ระยะเวลาการส่งผลงาน

  1. ส่งผลงานตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 9 กันยายน 2559
  2. ดูผลงานออนไลน์ทั้งหมดพร้อมให้คะแนนกดไลค์ จนถึงวันที่ 23 กันยายน 2559 ออนไลน์ทาง Youtube: What2Grow
  3. ประกาศผลวันที่ 30 กันยายน 2559 ทาง https://www.what2grow.in.th
  4. ผลงานที่ได้รับรางวัลจะนำไปเผยแพร่ในคลังทรัพยากรสารสนเทศด้านการเกษตร ภายใต้โครงการการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร (what2grow)

วิธีการส่งผลงานเข้าประกวด

ผู้สมัครกรอกแบบฟอร์มนำเสนอผลงาน [ดาวน์โหลดที่นี่]
พร้อมแนบไฟล์ผลงานในรูปแบบ DVD ส่งเอกสารทางไปรษณีย์
วงเล็บมุมซอง "คลิปสั้น เกษตรกรรมสู้ภัยแล้ง” มาที่

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
เลขที่112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง
อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
(นับวันตราประทับไปรษณีย์เป็นสำคัญ)

ติดตามข้อมูลกิจกรรมและดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่

  1. เว็บไซต์ https://www.what2grow.in.th
  2. Facebook: What2grow