MENU
Banner

ผศอ.แสดงความยินดีพนักงานและนักวิจัยที่ได้รางวัล

๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๘

ผศอ.แสดงความยินดี

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการเนคเทค ได้มอบกระเช้าผลไม้เพื่อแสดงความยินดีกับ ดร.กว้าน สีตะธนี ที่ปรึกษาโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ และทีมงาน ที่ได้รับคัดเลือกเป็นโครงการดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ประจำปี 2557

โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ ได้รับคัดเลือกเป็นโครงการดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ประจำปี 2557

โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ เริ่มดำเนินโครงการเมื่อปี 2549 โดยเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างเนคเทค/สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ โรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และหน่วยงานพันธมิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ

  • ด้านที่ 1 สร้างคนเพื่อสนับสนุนและพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์และไอทีของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและครูผู้สอนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ด้านที่ 2 สร้างงานเพื่อให้เกิดการจ้างงานด้านการพัฒนาไอที และเกิดรายได้ในท้องถิ่น
  • ด้านที่ 3 สร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความตระหนักด้านคอมพิวเตอร์และไอทีให้แก่ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป และเพื่อให้เกิดการนำระบบไอทีไปใช้ดำเนินงานภายในหน่วยงานต่างๆ

ดังนั้นจึงนับได้ว่าโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์เป็นโครงการที่นำประโยชน์สู่ผู้คนทุกหมู่เหล่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการไอทีเพื่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นมูลค่าหลายสิบล้านบาท

ผศอ.แสดงความยินดี

เนคเทคได้รับ 2 รางวัลในงาน THAILAND ICT EXCELLENCE AWARDS 2015 ได้แก่

  • Easy Hos รางวัลชมเชย ประเภท Innovation

EasyHos เป็นระบบที่ให้บริการข้อมูลเสมือนเป็นผู้นำทางแก่คนไข้เมื่อใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐ ข้อมูลที่แสดงจะเป็นข้อมูลการให้บริการของคนไข้ เช่น สถานที่ที่คนไข้จะต้องไปติดต่อ ณ เวลานั้น จำนวนคิวที่ต้องรอ การแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงคิว ข้อมูลใบเสร็จล่วงหน้า เป็นต้น EasyHos จะช่วยให้คนไข้ไม่หลงขั้นตอนในโรงพยาบาลของรัฐ และสามารถทราบข้อมูลการให้บริการต่างๆ ของตนเองอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องถามเจ้าหน้าที่ เป็นการลดภาระเจ้าหน้าที่ในการตอบคำถามหรือค้นหาคำตอบแก่คนไข้อีกด้วย ปัจจุบันได้มีการใช้งานจริงที่สถาบันทันตกรรม

ผศอ.แสดงความยินดี

NECTEC Intranet ได้รับรางวัลชมเชย ประเภท Core Process Improvement

NECTEC Intranet มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กร โดยเน้นการพัฒนา/ปรับปรุงทั้งด้านระบบสารสนเทศภายในองค์กรให้รองรับกระบวนการทำงานแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ลดการใช้กระดาษ เกิดการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ภายในเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้อง และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางไอที ภายใต้ โครงการเนคเทคกรีนไอซีทีเพื่อมุ่งสู่องค์กรสีเขียว โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ

เป้าหมายของโครงการเนคเทคกรีนไอซีทีเพื่อมุ่งสู่องค์กรสีเขียว

  • ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นแบบออนไลน์ ลดกระดาษ โดยมีความพึงพอใจของผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในองค์กรและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ลดการใช้พลังงานของห้องศูนย์ข้อมูลลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10
  • ขยายผลการใช้งาน เนคเทคอินทราเน็ตไปยังหน่วยงานภายนอก
ผศอ.แสดงความยินดี

ผลการดำเนินงานที่สำคัญ จากเป้าหมายการปรับปรุงกระบวนการทำงานภายใน ส่งผลให้

  • มีการพัฒนาระบบงานเพื่อรองรับการทำงานออนไลน์ 100% ในการประชุม การแจ้งเวียนข่าว บริหารจัดการรถยนต์ จองห้องประชุม บริการรับส่งเอกสาร พัสดุ แบ่งปันความรู้ และการแลกเปลี่ยนไฟล์ขนาดใหญ่
  • การใช้กระดาษในปีงบประมาณ 2554-2557ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 31.5 เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มโครงการ ปี 2553
  • ความพึงพอใจของผู้ใช้ Smart Intranet 86.19% สุ่มตัวอย่างได้ 113 คน จากทั้งหมด 681 คน ที่ระดับความเชื่อมั่น 91.41%
  • สร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ออนไลน์ โดยมีการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านฐานแบ่งปันความรู้ FAQ หรือ มุมไอที ในช่วงปี 2554-2556 จำนวน 379 รายการ มีผู้เข้าเยี่ยมชม 9,371 ครั้ง

จากเป้าหมายการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในห้องศูนย์ข้อมูลกลาง ศอ. หลังจากการปรับปรุงห้องศูนย์ข้อมูลกลาง ศอ. และปรับปรุงเครื่องให้บริการระบบเนคเทคอินทราเน็ตโดยใช้เทคโนโลยี Virtualization แล้วพบว่า ปริมาณไฟฟ้าที่ห้องศูนย์ข้อมูลใหม่ใช้ ตั้งแต่กลางปี 2555-2557 ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปี 2553

จากเป้าหมายขยายผลการใช้งาน เนคเทคอินทราเน็ตไปยังหน่วยงานภายนอก เนคเทคอินทราเน็ต ที่นำไปขยายผล ได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ จำนวน 2 รายการ คือ ชุดซอฟต์แวร์ สมาร์ทอินทราเวอร์ชั่น 1.0 และ ระบบบริหารการประชุม

หน่วยงานที่ได้มีการถ่ายทอดสมาร์ทอินทรา ไปใช้งาน คือ สถาบันมาตรวิทยา และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด

หน่วยงานที่ได้มีการถ่ายทอดระบบบริหารการประชุม ไปใช้งาน คือ สภากาชาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโยี และ สวทช.