MENU
Banner

เนคเทค ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมในโครงการบัวหลวงเพื่อมิวอายเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กไทย


Group.jpg

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ณ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่: ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้สนับสนุน ร่วมพัฒนานวัตกรรม เปิดมุมมองเด็กไทย ผ่านโครงการบัวหลวงเพื่อมิวอาย    

 Taweesak.jpg

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวถึงการสนับสนุนของ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ว่า   

โครงการบัวหลวงเพื่อมิวอายเกิดขึ้นจากแนวคิดของโครงการ “เพื่อนคู่คิดธุรกิจนวัตกรรม” ซึ่งมุ่งส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้เป็นฐานในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจของประเทศไทย ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุน สวทช. ผ่านโครงการ “เพื่อนคู่คิดธุรกิจนวัตกรรม” ในด้านต่างๆ  ได้แก่ โครงการติดอาวุธเทคโนโลยีผู้ประกอบการค้าปลีกไทยยุคเศรษฐกิจดิจิทัล  การจัดงาน Springboard Smart SMEs Summit และ NSTDA Investors’ Day 2015  การจัดทำหนังสือ “The Power of R&D”   การจัดสัมมนาเทคโนโลยีใหม่ที่น่าจับตามองสำหรับนักธุรกิจ (Technology Seminar) การจัดกิจกรรมเปิดบ้านงานวิจัยที่พร้อมต่อยอดสำหรับนักธุรกิจ (Open House)  

test.jpg

โครงการบัวหลวงเพื่อมิวอาย นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ผลิตชุดอุปกรณ์พร้อมเลนส์มิวอาย จำนวน ๒,๐๐๐ ชุด  โดย เนคเทค/ สวทช. ได้จัดกิจกรรมการจัดประกวดภาพถ่ายหัวข้อ ชีวิตเล็กๆ ผ่านเลนส์มิวอาย ตอน สิ่งมีชีวิตในน้ำ  และจะนำเลนส์มิวอายส่งมอบให้กับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจำนวน ๒๐๐ ชุด  และมอบให้กับโรงเรียนในโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ทั่วประเทศ จำนวน ๑,๘๐๐ ชุด 

student.jpg

กิจกรรมดังกล่าว  เนคเทค/สวทช. คาดหวังว่า จะช่วยเพิ่มศักยภาพเด็กไทยให้สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการกระตุ้นความสนใจใฝ่รู้ของเยาวชนให้เกิดการค้นคว้า สามารถใช้ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์  โดยประยุกต์ใช้สิ่งต่างๆ รอบตัวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้เป็นประโยชน์  รวมถึงได้สัมผัสเทคโนโลยีที่เป็นผลผลิตจากผลงานวิจัยของไทย  

test2.jpg

ผลงานวิจัยเลนส์มิวอายเป็นผลงานแรกที่ เนคเทค/สวทช. ได้รับการสนับสนุนการวิจัยผ่านการระดมทุน หรือที่เรียกว่า Crowdfunding เป็นนวัตกรรมที่ได้ยื่นจดสิทธิบัตรการผลิต และมีแนวนโยบายที่จะให้ครู เด็กและนักเรียน ใช้อุปกรณ์นี้เพื่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ สามารถใช้งานแทนกล้องจุลทรรศน์ในปัจจุบันที่มีราคาสูงและมีจำนวนจำกัด  “เลนส์มิวอาย” ได้รับการออกแบบให้มีความสามารถในการเพิ่มศักยภาพให้กับกล้องที่ติดมากับอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือในการบันทึกภาพของวัตถุขนาดเล็กได้ง่ายขึ้น เพื่อให้นักเรียนหรือบุคคลทั่วไปมีโอกาสใช้เลนส์ผ่านสมาร์ทโฟนแทนกล้องจุลทรรศน์ที่มีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนแท็บเล็ตให้เป็นกล้องจุลทรรศน์ดิจิทัลแบบพกพา และ “ฐานรองรับวัตถุแบบประกอบด้วยตัวเอง Do-It-Yourself (DIY)” และเมื่อนำมารวมเข้ากับคุณสมบัติอื่นของอุปกรณ์พกพาอย่างการเชื่อมต่อกับเครือข่าย และความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมจะช่วยให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล เกิดการเรียนรู้  พัฒนาโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องได้ เปรียบเสมือนการสร้างห้องทดลองเคลื่อนที่  ทั้งนี้ โรงเรียนใดที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ ชีวิตเล็กๆ ผ่านเลนส์มิวอาย ตอน สิ่งมีชีวิตในน้ำ สามารถลงทะเบียนและดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่เว็บไซต์ https://fic.nectec.or.th/ หรือ  Facebook Fanpage: MuEye.  โครงการฯ จะเปิดรับภาพถ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 กุมภาพันธ์ 2559

k weerasak.jpg

คุณวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า “โครงการบัวหลวงเพื่อมิวอาย” เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการเพื่อนคู่คิดธุรกิจนวัตกรรม” ที่ธนาคารกรุงเทพฯ ได้ดำเนินการร่วมกับ สวทช. โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจไทย ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม  รวมทั้งการนำเสนอนวัตกรรมที่เป็นผลงานของ สวทช. และได้รับการคัดสรรแล้วว่ามีศักยภาพสูงในเชิงพาณิชย์ ให้ผู้ประกอบการได้พิจารณาเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก ทั้งนี้ “โครงการเพื่อนคู่คิดธุรกิจนวัตกรรม” สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของธนาคารกรุงเทพที่มุ่งสนับสนุนทุกภาคส่วน ทั้งในภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม ให้มีความเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ธนาคารฯ เชื่อว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน