9 กุมภาพันธ์ 2559 ภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science หรือ National e-Science Infrastructure Consortium ได้รับเกียรติให้มีส่วนร่วมสนับสนุนการแข่งขัน Thailand Computational Chemistry Challenge หรือ การแข่งขันเคมีคํานวณ ซึ่งจัดโดย กลุ่มบริษัท อูเบะ (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด Sustainable economic by adding value to natural rubber เพื่อศึกษาสมบัติเชิงกลของวัสดุผสมจากยางธรรมชาติกับสารเพิ่มคุณสมบัติ มีผู้เสนอโครงการวิจัยเข้าร่วมการแข่งขันถึง 17 โครงการ ผ่านการคัดเลือกรอบแรก 7 โครงการ และ ได้รับรางวัล 3 โครงการ ผู้ชนะเลิศได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และกลุ่มบริษัท อุเบะ (ประเทศไทย) มอบรางวัลให้กับผู้ชนะการแข่งขันทั้งสามโครงการมูลค่ารวมกว่า 6 แสนบาท
ในการแข่งขันครั้งนี้ ผู้แข่งขันใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ทำนายสมบัติเชิงกลของยางธรรมชาติภายใต้สภาวะต่างๆ และ หาทางปรับปรุงสมบัติของยางโดยใช้สารเพิ่มคุณสมบัติ ซึ่งแบบจำลองคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ต้องการระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วในการประมวลผล เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่มีความถูกต้องแม่นยำ ภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science จึงได้ร่วมสนับสนุนการแข่งขันในครั้งนี้ โดยได้จัดสรรเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงเพื่อให้ผู้แข่งขันใช้ในการคำนวณจำนวน 96 แกนประมวลผล
นายรังสิมันต์ เกษแก้ว นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมผู้ชนะเลิศกล่าวโดยสรุปว่า เครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงของภาคีฯ ได้มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาโจทย์การแข่งขันส่วนหนึ่ง โดยจะเตรียมไฟล์ input จากเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ cluster ที่มีอยู่ก่อน แล้วจึงส่งงานขนาดใหญ่ที่ต้องการความสามารถในการประมวลผลสูง เข้าไปประมวลผลที่ทรัพยากรของภาคีฯ
คุณวัชระ พัฒนานิจนิรันดร กลุ่มบริษัทอูเบะ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนเปลงที่รวดเร็ว บริษัทจึงต้องเร่งการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ โดยเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการคิดค้นและพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็น solution provider”
ดร. ศรเทพ วรรณรัตน์ เลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการ ภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science กล่าวว่า “ภาคีฯ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งหัวข้อในการแข่งขันช่วยแสดงให้เห็นประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณต่อการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ”
ภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science เป็นความร่วมมือตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณ อันได้แก่ ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ระบบจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ และ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบัน ภาคีฯ มีหน่วยงานเข้าร่วมเป็นสมาชิก 7 หน่วยงาน และ สมาชิกสมทบ 3 หน่วยงาน มีหน่วยประมวลผลรวม 2,836 แกนประมวลผล และระบบจัดเก็บข้อมูลความจุรวม 982 เทราไบต์ ซึ่งกระจายอยู่ในหน่วยงานที่เป็นสมาชิก ในแต่ละปีมีโครงการวิจัยเข้ามาใช้บริการ 50 - 70 โครงการ จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เป็นสมาชิก และ ไม่ได้เป็นสมาชิก