MENU
Banner

"ดร.อดิสร" กับรางวัลนักวิจัยรุ่นกลางดีเด่นจากผลงาน Lab-on-a-chip

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ คว้ารางวัล 2015 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award จากผลงาน ห้องปฏิบัติการบนชิป หรือ Lab-on-a-chip ที่งานการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 15 เมื่อวันอังคารที่ 6 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมี ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมแสดงความยินดี

การประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 15 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 มกราคม 2559 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีและกล่าวเปิดงานการประชุมและปาฐกถานำ เรื่อง "การขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วยงานวิจัย" พร้อมมอบรางวัล 2015 TRF-CHE-Scopus Researcher Awards และ 2015 TRF-Thomson Reuters Research Excellence Awards แก่นักวิจัยดีเด่นในสาขาต่างๆ ซึ่ง ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ (TOPIC) หน่วยงานสังกัดศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นกลางดีเด่น 2015 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award สาขา Engineering & Multidisciplinary Technology จากผลงานระบบปฏิบัติการของไหลจุลภาคบนชิปที่มีวัสดุนาโนประกอบรวมสำหรับการวิเคราะห์ทางเคมีอย่างรวดเร็ว หรือที่รู้จักกันในชื่อ ห้องปฏิบัติการบนชิป หรือ Lab-on-a-chip

"ห้องปฏิบัติการบนชิป" หรือ Lab-on-a-chip นั้นเปรียบเสมือนกับเป็นห้องปฏิบัติการที่ย่อส่วนลงเหลือไม่กี่ตารางนิ้ว เป็นเทคโนโลยีเพื่อใช้ตรวจวิเคราะห์ทางเคมีที่มีประสิทธิภาพสูงตรวจวัดได้รวดเร็ว มีความแม่นยำสูง มีความน่าเชื่อถือสูง ขนาดเล็ก สามารถพกพาไปออกตรวจนอกสถานที่ได้ (Point-of-care) และราคาถูก โดยอาศัยเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างโครงสร้างขนาดเล็กของท่อขนาดไมโครเมตร ปั้มขนาดเล็ก บนแผ่นชิปที่ทำมาจากวัสดุประเภทแก้วหรือพลาสติก และขั้นตอนการเตรียมสาร แยกสาร และการตรวจวัดต่างๆ ที่แตกต่างและหลากหลายประกอบรวมเข้าในระบบห้องปฏิบัติการบนชิป เช่น การตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้า (Electrochemical Detection) การวัดด้วยเทคนิค Quartz Crystal Microbalance Array เป็นต้น ทำให้เราสามารถออกแบบย่อส่วนการตรวจลงบนแผ่นชิป วิเคราะห์ตัวอย่างที่เป็นของเหลวในปริมาตรน้อยถึงระดับนาโนลิตรและโมโครลิตรได้ โดยเรียกเทคโนโลยีนี้ว่าMicrofluidics

ผลงานวิจัยนี้ทำให้ไ้ด้เซนเซอร์บนชิปที่ทำหน้าที่เป็นแผ่นตรวจที่สามารถตรวจวัดทางเคมีและชีวภาพโดยใช้สารเคมีน้อยลง ใช้ตัวอย่างน้อยลง สามารถตรวจวัดได้แม่นยำเทียบเท่ากับเครื่องมือมาตราฐานในห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาล ราคาถูก สามารถใช้แล้วทิ้ง มีขนาดเล็ก สามารถนำไปตรวจวัดนอกสถานที่ และประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่น ชิปตรวจวัดคลอเรสเตอรอล ชิปตรวจวัดสารเร่งเนื้อแดงในอาหาร เป็นต้น