สิทธิในความเป็นผู้เป็นคน

สิทธิในความเป็นผู้เป็นคน | การปฏิรูปราชการ | การปฏิรูป "ศาล" และระบบตรวจสอบ
การปฏิรูประบบผู้แทน | การขจัดความทุจริตในบ้านเมือง | บทส่งท้าย

...เมื่อเป็นเด็กฉันควรมีโอกาสเล่าเรียนอย่างเพียงพอ
มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ ครั้นเติบใหญ่ก็น่าจะมีโอกาสทำมาหากินโดยปกติสุข
ไม่ถูกใครเขารังแกเอาได้ง่ายๆ จะคิดจะเชื่ออะไร ก็ไม่มีใครจับเข้าคุกเข้าตะราง
ได้มีเสียงมีส่วนกำหนดบ้านเมืองตามควร
ควรก็เพราะว่าคนเรานั้นเกิดมาเท่ากัน จนเมื่อแก่ตัวล่วงเข้าวัยชรา
ฉันก็ไม่ควรจะถูกทอดทิ้งอยู่ ข้างถนน...
มาตรา ๔ ศักดิ์ศรีความเป็นมนนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา ๘๐ รัฐต้องสงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้

มาตรา ๕ ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอ

มาตรา ๖ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

๑.๑ สิทธิมนุษยชน

มีข้อเด่นที่ได้กำหนดไว้ดังนี้

๑.๑.๑ มาตรการควบคุมอำนาจอาญาของรัฐ

ในการจับกุมผู้คน เจ้าพนักงานต้องมีหลักฐานเค้ามูลความผิดอยู่ในมือแล้ว และมีความจำเป็นต้องจับ โดยต้องไปแสดงเหตุต่อศาลเพื่อขอหมายจับก่อน โดยข้อบัญญัติเช่นนี้ ต่อไปภายหน้าตำรวจหรือฝ่ายปกครองจะออกหมายจับเองไม่ได้อีกแล้ว เมื่อจับแล้วต้องรีบนำไปศาล เพื่อแสดงเหตุจำเป็นที่จะคุมขังผู้ต้องหาและขอฝากขังกับศาลยุติธรรม

มาตรา ๒๓๗ ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใด จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับโดยไม่ชักช้า กับจะต้องได้รับโอกาสแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจทราบในโอกาสแรก และผู้ถูกจับซึ่งยังถูกควบคุมอยู่ ต้องถูกนำตัวไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อศาลพิจารณาว่ามีเหตุที่จะขังผู้ถูกจับไว้ตามกฎหมายหรือไม่ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

หมายจับหรือหมายขังบุคคลจะออกได้ต่อเมื่อ

    ๑. มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรงที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือ

    ๒. มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ด้วย

เมื่อขึ้นศาล ศาลต้องนั่งฟังพยานให้ครบองค์คณะและปรึกษาคดีกันจริงๆ ขณะเดียวกันก็ปรับระบบบริหารงานบุคคลของศาลเสียใหม่ เพื่อให้สามารถดึงผู้พิพากษาผู้ใหญ่ลงไปเป็นหลักในศาลต้น และศาลต่างจังหวัดได้ แทนที่จะวางระบบให้เลื่อนขึ้นศาลสูงเสียหมด เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

มาตรา ๒๓๖ การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาหรือตุลาการครบองค์คณะ และผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใด จะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นมิได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในด้านผู้เสียหาย ได้กำหนดรับรองสิทธิ์ของพยาน และผู้เสียหายให้ได้รับความคุ้มครอง และค่าตอบแทนจากรัฐด้วยเช่นกัน

มาตรา ๒๔๔ บุคคลซึ่งเป็นพยานในคดีอาญามีสิทธิได้รับความคุ้มครองการปฏิบัติที่เหมาะสม และค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๔๕ บุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิได้รับความคุ้มครอง การปฏิบัติที่เหมาะสม และค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลใดได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือแก่ร่างกายหรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น และไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่น บุคคลนั้นหรือทายาทย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

๑.๑.๒ ขยายเสรีภาพทางศาสนา

ได้ขยายให้ครอบคลุมถึงเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติด้วย

๑.๑.๓ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

จัดตั้งขึ้นเป็นคณะกรรมการของสภา เพื่อรับรองทุกข์ และสอดส่องดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ให้ทั่วถึง

๑.๒ สิทธิทางการเมือง

เพื่อเสริมสร้างอำนาจปกครองตนเองของประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ได้จัดวางระบบที่เอื้ออำนวยไว้ดังนี้

๑.๒.๑ ขยายเสรีภาพในการรวมตัว

โดยรับรองไว้ทั้งที่เป็นนิติบุคคล และไม่เป็นนิติบุคคล และรับรองเป็นพิเศษไว้อีกดังนี้

  • วางระบบให้ตั้งพรรคการเมืองง่ายกว่าเดิม เพียงแต่จดแจ้งทางทะเบียนเท่านั้นก็เป็นพรรคการเมืองได้ และหากดำเนินการเป็นจริงเป็นจัง ก็จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งในการพัฒนาสาขาพรรค และการหาเสียง
  • ให้รัฐส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกร, สหกรณ์ และตัวแทนผู้บริโภค

๑.๒.๒ ปลดปล่อยการครอบงำของรัฐในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม

โดยให้อยู่ในการกำกับดูแลขององค์กรที่เป็นอิสระ อีกทั้งยังประกันเสรีภาพในวิชาชีพของนักสื่อสารมวลชนไว้ด้วย ทำได้เช่นนี้ ประชาชนจึงจะมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันได้มากกว่าเดิม

มาตรา ๔๐ คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การดำเนินการตามวรรคสอง ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

มาตรา ๔๑ พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น ภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ

ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ในกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง

๑.๒.๓ สิทธิของประชาชน ๕ หมื่นคน

ได้กำหนดให้ประชาชน ๕ หมื่นคนขึ้นไป เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และแนวนโยบายพื้นฐานต่อรัฐสภาได้ หรือร้องขอให้ ป.ป.ป. สอบสวน การทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมือง และข้าราชการระดับสูง เพื่อถอดถอนจากตำแหน่งโดยวุฒิสภา ได้เช่นกัน

๑.๒.๔ ประชามติ

ให้อำนาจรัฐบาลปรึกษาประชาชนโดยขอประชามติได้

๑.๓ สิทธิได้รับการทำนุบำรุงดูแลจากรัฐ

เพื่อชีวิตที่มีศักดิ์ศรีของผู้คน รัฐมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ดังนี้

๑.๓.๑ การศึกษา

รัฐต้องให้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึงเท่าเทียมกันทั่วประเทศ เป็นการให้เปล่าอย่างน้อย ๑๒ ปี

๑.๓.๒ การสาธารณสุข

รัฐต้องให้บริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน เฉพาะผู้ยากไร้มีสิทธิรักษาพยาบาลฟรี

๑.๓.๓ ผู้ชรา สำหรับผู้ชราอายุเกิน ๖๐ ปี และไม่มีรายได้ รัฐต้องช่วยเหลือ

๑.๓.๔ ผู้พิการ

ผู้พิการหรือทุพพลภาพ จะได้สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะจากรัฐ (ทางขึ้นลง, ห้องน้ำ, ที่นั่งในรถโดยสารฯ) และความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐ

๑.๓.๕ เด็ก

รัฐต้องคุ้มครองเด็กจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดูแล รัฐต้องเลี้ยงดู และ ให้การศึกษา

มาตรา ๕๓ เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม

เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแล มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๘๐ รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน

๑.๔ ความเสมอภาค

มาตรา ๕ ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน

ได้ปรับบทบัญญัติให้ชัดเจนกว้างขวางขึ้นดังนี้

๑.๔.๑ การปฏิบัติต่อประชาชน

รัฐต้องใช้กฎหมายโดยเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ใด โดยไม่เป็นธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แต่สำหรับการช่วยเหลือ สตรี เด็ก คนพิการ ผู้ป่วยเอดส์ ฯลฯ เป็นพิเศษเพื่อให้ดำรงชีวิตโดยทัดเทียมกับผู้อื่นนั้น ไม่ถือเป็นการเลือกที่รักมักที่ชังตามรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๓๐ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้น เพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม

๑.๔.๒ ความเสมอภาคทางการเมือง

ได้ยกเลิกข้อห้ามคนหูหนวกเป็นใบ้ลงสมัคร รับเลือกตั้ง อีกทั้งยังนำระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียว มี ส.ส. คนเดียวมาใช้ ทำให้ทุกคนมีสิทธิเลือกและมีผู้แทนได้ ๑ คนเท่ากันทั่วประเทศ ในกรณีทำงานอยู่นอกภูมิลำเนาก็สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในถิ่นที่ทำงานได้อีกด้วย

๑.๕ เพิ่มอำนาจบังคับของสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

เพื่อให้สิทธิต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ มีสภาพบังคับที่เป็นจริงได้ในระบบกฎหมายไทย ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จึงได้เพิ่มอำนาจบังคับไว้ดังนี้

๑.๕.๑ กำหนดให้สิทธิเหล่านี้ผูกพันโดยตรงและกว้างขวาง

ผูกพันทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรเจ้าหน้าที่ทุกองค์กร และศาล ทั้งในการออกกฎหมาย ใช้กฎหมาย และตีความกฎหมาย และเมื่อใช้อำนาจกับประชาชนครั้งใด จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เสมอ

สิทธิย่อมยกขึ้นอ้างได้โดยตรงในทุกศาล ทั้งเพื่อบังคับตามสิทธิ์ของตน หรือยกเป็นข้อต่อสู้ได้เสมอ หากเป็นกรณีที่กฎหมายของรัฐสภาขัดกับรัฐธรรมนูญเสียเอง ศาลนั้นก็จะส่งเนื่องให้รัฐธรรมนูญชี้ขาดเพื่อปฏิเสธผลบังคับใช้ของกฎหมายนั้นต่อไป

มาตรา ๒๖ การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๒๗ สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพัน รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมายการใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง

มาตรา ๒๘ บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

๑.๕.๒ การออกกฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องรัดกุม

ต้องทำโดยกฎหมายที่ผู้แทนของประชาชนตราขึ้น โดยต้องทำเท่าที่รัฐธรรมนูญอนุญาตและเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้จะกระทบสาระสำคัญแห่งสิทธินั้นมิได้

มาตรา ๒๙ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย

บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นำมาใช้บังคับกับกฎหรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย โดยอนุโลม