Logo - NECTEC and Backto NECTEC HomepageNational Electronics and Computer Technology

Research & Developmenticon หน้าหลัก
icon สิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร
icon OMOP
icon เทคโนโลยี ECTI
icon สรุปผลงานวิจัยและพัฒนา ECTI-A
icon สาขาอิเล็กทรอนิกส์
icon สาขาคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณ
icon สาขาโทรคมนาคม
icon สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
icon โครงการพิเศษ
icon ทุนวิจัย
icon ถ่ายทอดเทคโนโลยี
icon พัฒนาทรัพยากรมนุษย์
icon นโยบายและโครงสร้างพื้นฐาน

โทรคมนาคม (Telecommunications)

เทคโนโลยีโทรคมนาคมและเครือข่ายเป็นเทคโนโลยีที่มีความต้องการในประเทศสูงมาก ในแต่ละปี มีการนำเข้า จากต่างประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล อีกทั้งรัฐยังมีแผนการลงทุนอีก 500,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มหมายเลขโทรศัพท์เป็น 10 ล้านคู่สาย ในขณะที่อุตสาหกรรมในประเทศ มีขีดความสามารถ ในการผลิต และประกอบสูง แต่ขาดความสามารถในการพัฒนาต้นแบบสำหรับการผลิต ดังนี้นรัฐจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาต้นแบบผลิตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทดแทนการนำเข้า นอกจากนั้นแล้วการรวมกันของเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม และสื่อสารข้อมูลทำให้เปิดโอกาสแก่ SMEs ใหม่ๆ ให้เติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้

ข้อมูลเพิ่มเติม: ฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคม เบอร์
โทรศัพท์ 0-2564-6900 ต่อ 2577
Website: https://www.nectec.or.th/rdt/

งานวิจัย RDT1 งานวิจัยระบบสื่อสารแบบไร้สาย (Wireless Communications Section)

ได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ื่มุ่งเน้นและพัฒนาระบบสื่อสารไร้สายเพื่อใช้ในที่ซึ่งการสื่อสาร แบบใช้สายทองแดงมีราคาสูงไม่คุ้มค่าในการลงทุนเช่นในชนบทห่างไกล ทำให้เกิดโครงการวิจัยและ พัฒนาระบบสื่อสารไร้สาย (Development of Wireless System)

โครงการวิจัยระบบสื่อสารแบบไร้สาย (Wireless Local Loop : WLL)

WLL เป็นระบบที่มีการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้บริการโทรศัพท์กับโครงข่ายด้วยการเชื่อมต่อแบบ ไร้สาย (Wireless Link) แทนการเชื่อมต่อแบบสายเคเบิ้ล (Wireline Link) หรือแบบ Copper Drop Wire เหมาะสำหรับให้บริการในพื้นที่ห่างไกล และมีประชาชนอาศัยอยู่ไม่หนาแน่นประหยัดต้นทุนและเวลา การติดตั้งโครงการระบบ WLL จากการค้นคว้าและพัฒนาของกลุ่ม RDT1 พบว่าแนวโน้มการนำเทคโนโลยี IP-Based (Internet Protocol Based) มาใช้งานสูงขึ้น เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถให้บริการเสียงที่เรียกว่า Voice over IP (VoIP) และให้บริการข้อมูล (Data) บนระบบอินเตอร์เนต (Internet) ไปพร้อมๆ กันได้ โครงการวิจัยและพัฒนานี้จึงได้มีแนวคิดในการนำเทคโนโลยี IP-Based มาใช้ในระบบ WLL โดยการพัฒนาออกแบบสร้าง Hardware Platform และ Protocol ของ อุปกรณ์แม่ข่าย (Access Point ) และอุปกรณ์ลูกข่าย (Fix-Terminal Access) ที่ใช้เทคโนโลยี Wireless LAN (WLAN) โดยอาศัย VoIP เพื่อให้บริการเสียง (โทรศัพท์พื้นฐาน) แต่ต้องมีการดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ในระบบ WLL นอกจากนั้นยังสามารถให้บริการอินเตอร์เนตความเร็วสูงไร้สาย หรือที่เรียกว่า บรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband) เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับระบบได้อีกด้วย และเพื่อเป็นการลดการนำเข้าอุปกรณ์ สำหรับระบบสื่อสารที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งระบบวิทยุชุมชนกำลังต่ำมี จุดประสงค์เพื่อให้ใช้งานบริการข่าวสารข้อมูลเฉพาะภายในชุมชนเท่านั้นและเพื่อให้การใช้งานง่ายยิ่งขึ้น ทางศอ.จึงพัฒนาอุปกรณ์เครื่องส่งแบบสังเคราะห์ความถี่ขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเลือก ปรับเปลี่ยนไป ยังช่องความถี่ที่เหมาะสมต่อการใช้งานได้สะดวก

โครงการวิจัยและพัฒนารถสื่อสารฉุกเฉิน (Emergency Communication Vehicle : ECV)

ด้วยปัญหาในด้านการติดต่อสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ของประเทศ อาทิเช่น เหตุการณ์ ธรณีพิบัติทางภาคใต้ หรือแม้แต่พื้นที่ทางชนบทที่ห่างไกลจากระบบสื่อสารหลักทำให้ไม่ ่สามารถใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและบริการอินเตอร์เนตได้งานวิจัยฯ จึงได้นำเทคโนโลยีหลักใน โครงการระบบสื่อสารไร้สาย มาประยุกต์และพัฒนาต่อยอดเป็นระบบสื่อสารฉุกเฉิน (Mobile Network Service) ที่สามารถให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและอินเตอร์เนตได้ จึงทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็วใน การติดตั้ง และใช้งาน ระบบสื่อสารฉุกเฉินสามารถให้บริการในพื้นที่ 33 ตารางกิโลเมตร โดยรอบจุดที่ รถเคลื่อนที่เข้าไปถึง ให้บริการอินเตอร์เนตความเร็วสูงไร้สายได้พร้อมกัน 25 - 30 เครื่อง และรองรับการ ใช้งานโทรศัพท์พร้อมๆ กันได้ 30 คู่สาย โดยแผนการดำเนินงานจะพัฒนาต่อยอดรถยนต์ต้น แบบเพื่อใช้ในการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร ได้แก่ พัฒนาเสา Telescopic สำหรับติดตั้ง Base Station, พัฒนาระบบสายอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ Base Station , พัฒนาระบบจัดการพลังงานที่ใช้ ในระบบทั้งหมด , พัฒนา Server ที่ใช้ในระบบ (SIP, NMS) รวมถึงการทดสอบระบบในการให้บริการ

โครงการระบบสื่อสารไร้สายแบบ 2 ทางเพื่อการเรียนรู้

รูปแบบและวิธีการเรียนการสอนภายในชั้นเรียน ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและนักเรียนเป็นการสร้างความกระตือรือร้นขึ้นในการเรียน การสอน อีกทั้งการนำเทคโนโลยีการส่งข้อมูลแบบไร้สาย 2 ทางมาประยุกต์ใช้งาน ทำให้นอกเหนือ จากการใช้งานเพื่อการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียวแล้ว ยังสามารถนำไปใช้กับลักษณะการใช้งาน ในห้องบรรยายได้หลายรูปแบบ อาทิเช่น การถาม-ตอบ การลงคะแนน การสำรวจ การฝึกอบรม เกมส์ การแข่งขัน การทดสอบ การทำกิจกรรมภายในห้องบรรยาย เป็นต้น โดยนักเรียนหรือผู้เข้าห้องบรรยายแต่ละคนจะได้รับอุปกรณ์ที่เรียกว่า Remote Unitไว้รับ ส่งข้อมูลไร้สายกับอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้หน้าห้องเรียกว่า Master Unit ซึ่งสามารถต่อเข้ากับเครื่องคอม พิวเตอร์ และแสดงผลออกทาง Projector เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจะมีโปรแกรมที่ถูกติดตั้งไว้ใช้ งานในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น เกมส์ การถาม-ตอบ การลงคะแนน เป็นต้น ทำให้นักเรียนหรือผู้เข้าห้อง บรรยายสามารถสื่อสารกับผู้บรรยายได้พร้อมกันและตลอดเวลา

งานวิจัย RDT2 งานวิจัยระบบโทรคมนาคมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรุ่นที่ 3 (Third Generation Mobile Communications)

ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปีงบประมาณ 2544 เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับกลุ่มวิจัยใน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบโทรคมนาคมเคลื่อนที่ในยุคที่สาม เพื่อพัฒนาระบบโครงการเคลื่อน ที่สื่อสารด้วยความเร็วสูงถึงระดับ 2Mbps ทำให้สามารถส่งสัญญาณเสียง ภาพเคลื่อนไหวและข้อมูลต่าง ๆ ได้รวดเร็ว

โครงการวิจัยและพัฒนาระบบโทรคมนาคมสําหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ 3 (3G)

เป็นโครงการร่วมวิจัยระหว่างหลายสถาบันอุดมศึกษาของไทยและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิว เตอร์แห่งชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลัก (Core Technology) สําหรับ 3G ซึ่งหน่วยงาน ITU (International Telecommunicaitons Union) ได้กําหนดมาตรฐานสําหรับ 3G ไว้มีชื่อว่า IMT-2000 ตามมาตรฐาน IMT-2000 นี้ ได้เลือกใช้เทคโนโลยีสําหรับส่วนเชื่อมต่อคลื่นวิทยุ (Radio Interface) ไว้ 3 อย่างได้แก่ WCDMA, cdma2000 และ TD-SCDMA ซึ่งคณะนักวิจัยได้ศึกษาและเลือกทําการวิจัยตาม เทคโนโลยี WCDMA ไม่ว่าจะเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ตาม สถานีฐาน (Base Station) และสถานีเคลื่อนที่ (Mobile Station) ในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีส่วนประกอบหลักๆ ทางกายภาพเหมือนกัน ได้แก่ สาย อากาศ, RF โมดูล, ส่วนประมวลผลเบื้องต้น (Pre-processing) เช่น rake receiver, และ ส่วนประมวล สัญญาณเบสแบนด์ (Baseband Processing)

โครงการจำลองการทำงานของช่องสัญญาณทางกายภาพและส่วน pre-processing ของระบบ WCDMA

โครงการฯ นี้เป็นงานส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนโครงการ IMT 2000 ในส่วนของการประมวลสัญญาณส่วน กายภาพสำหรับระบบ WCDMA โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและพัฒนาซอฟต์แวร์จำลองการทำงานของ ช่องสัญญาณทางกายภาพที่ใช้ระบบ WCDMA ทั้งส่วนของDownlink และ Uplink ซึ่งทำหน้าที่รับข้อมูลจาก Transport channel แล้วนำมาประมวลผลเบสแบนด์ได้เป็นข้อมูลที่พร้อมส่งออกอากาศโดยมอดูเลชั่นกับ คลื่นพาหะ ช่องสัญญาณทางกายภาพแต่ละช่องในระบบ WCDMA มีขั้นตอนในการประมวลที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อความเข้าใจในระบบ WCDMA ให้ดียิ่งขึ้นจนสามารถสร้างชุดต้นแบบเครื่องรับสัญญาณในระบบ WCDMA ได้ จึงควรจำลองการทำงานและทดสอบช่องสัญญาณทางกายภาพทั้งหมดของระบบ WCDMA ก่อนการสร้างจริง

โครงการระบบสื่อสารไร้สายระยะใกล้ระหว่างถนนและรถยนต์ (Short Range Wireless Communications between Road and Vehicle)

ระบบสื่อสารระยะใกล้ระหว่างถนนและรถยนต์เพื่อการใช้งานเฉพาะด้าน (road-vehicle Dedicated Short Range Communications; DSRC) เป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบสื่อสารไร้สายซึ่งใช้ สื่อสารระหว่างถนนซึ่งอยู่กับที่และรถยนต์ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง และเป็นระบบสื่อสารไร้สายภาย ในบริเวณรัศมีไม่กว้างมาก (short range; ~100 m) สามารถขยายผลสร้างเป็นแอพพลิเคชันต่างๆ ได้ เช่น ระบบเก็บเงินทางด่วน ระบบกระจายข้อมูลจราจรหรือข้อมูลอื่น ๆ ในท้องที่ (Local) เพื่อแจ้งเตือน ให้ทันเหตุการณ์ สำหรับโครงการฯ นี้จะศึกษาและพัฒนาระบบสื่อสารไร้สายสำหรับการใช้งานแบบ DSRC โดยจะพัฒนาเครื่องส่งและเครื่องรับสำหรับใช้สื่อสารระหว่างถนนและรถยนต์ โดยมีเป้าหมายในเบื้องต้น สำหรับใช้ส่งข้อมูลการจราจรต่าง ๆ ในท้องที่เพื่อแจ้งเตือนให้ทันต่อเหตุการณ์ และเพื่อหาความเป็นไป ได้ในการนำมาใช้พัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นส่งข้อมูลจราจรต่าง ๆ

งานวิจัยระบบสื่อสารแบบใช้สาย (Wireline Communications Section)

ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาระบบสื่อสารใช้สาย

โครงการพัฒนาเทคโนโลยีไอพีและไอซีทีเพื่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งมีเทคโนโลยี IP และ CTI กำลัง มีบทบาทในอุตสาหกรรมนี้อย่างสูง โดยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและกระตุ้นให้ เกิดการประยุกต์ใช้งานของเทคโนโลยี IT ที่เหมาะสม ในโครงการนี้นอกจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ขึ้นมาแล้ว ยังได้เน้นให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านของภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาต่อไปพร้อม ๆกัน

ความสำคัญ

สืบเนื่องจาก ผู้แทนของภาคอุตสาหกรรม ให้ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แห่งชาติพิจารณาช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีทางด้าน VOIP แก่กลุ่มผู้ผลิต PABX เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพใน การแข่งขันของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้พร้อมสำหรับตลาดในอนาคต ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไป รวมกับผลิตภัณฑ์ทางด้าน Network โดยใช้เทคโนโลยี VOIP เป็นกลไกที่สำคัญ เทคโนโลยี VOIP นี้นับเป็นโอกาสและช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตสินค้าหน้าใหม่ที่จะแทรกตัวเข้าไปในตลาด เพื่อเป็นการตอบสนองกับความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้น และได้มีการประชุมหารือกัน โดยได้ข้อสรุปโดยสังเขป ดังนี้

  1. เทคโนโลยี IP และ CTI เทคโนโลยี IP ประกอบด้วยเทคโนโลยีพื้นฐานหลายเทคโนโลยี คือ Embedded System, IP Protocol, Telephony Protocol และ DSP (Voice, Signaling) โดยที่เทคโนโลยี แต่ละชนิดยังแยกย่อยได้อีกมากเช่น
    1) Embedded System ประกอบด้วย High Speed Digital Design, Processor, Real-time Kernel และ Development Tools
    2) IP Protocol ประกอบด้วย IP, RTP, H.323
    3) Telephony Protocol ประกอบด้วย POTS, ISDN, MFC-R2, V5.1, V5.2, QSIG, DPNSS
    4) DSP มีความเกี่ยวข้องกับระบบ VOIP ใน 2 ด้านคือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการส่งสัญญาณเสียง ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะมีความแตกต่างจากเทคโนโลยีของ DSP ที่ใช้ในระบบโทรศัพท์ทั่วๆ ไป
    จุดประสงค์ของเทคโนโลยีในด้านนี้ คือต้องการที่จะลดขนาดข้อมูลให้ได้มากที่สุดในระดับคุณภาพเสียงที่ยอมรับได้ เทคโนโลยีเหล่านี้ได้แก่ Voice Compression (G.729, G.723), Echo cancellation, Comfort noise generator, Voice activity detector เทคโนโลยีที่ใช้ในการส่ง Signalingซึ่งเทคโนโลยีนี้จะมีเหมือนกับเทคโนโลยีของ DSPที่ใช้ในระบบโทรศัพท์ทั่วๆ ไป ตัวอย่างของ Signaling ที่จำเป็นได้แก่ DTMF, MF, Call progress tone (Dial tone, Ring - back tone, ...), และ FAX, MODEM, CLID (Caller ID)
  2. การพัฒนาเทคโนโลยีและ Platform
    ในการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นนอกเหนือจากการศึกษาค้นคว้า ทางด้านทฤษฎีแล้ว การทดลองทำเพื่อให้เกิดผลจริงก็เป็นสิ่งจำเป็นในหลายๆ กรณี การกำหนด Platform (ระบบที่ใช้ในการพัฒนาและทดสอบ เช่น ชนิดของตัวประมวลผล ระบบปฏิบัติการ และ Compiler) ก็เป็น สิ่งที่มีความสำคัญต่อโครงการอย่างมากเนื่องจาก
    1) Platform ที่ดีจะช่วยให้สามารถทดสอบความถูกต้องในการทำงานได้โดยสะดวก
    2) การรวมงานที่ได้พัฒนาไว้สามารถทำได้โดยสะดวกไม่ต้องทำการพัฒนาใหม่หรือ ทำให้ใช้เวลาใน การรวมสั้นลง
    3) สามารถทำการพัฒนาหลายๆ ส่วนไปพร้อมๆ กันได้
    4) สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มจะนำมาใช้งานไว้ได้ล่วงหน้า โดยมีความมั่นใจว่าจะสามารถ นำมาใช้ได้โดยสะดวกเมื่อเกิดความต้องการ
  3. โครงการ วิจัยและพัฒนาชุดรับส่งข้อมูลผ่านสายไฟฟ้าสำหรับลีโอนิกส์
    โครงงานวิจัย PLC Module ได้รับสนับสนุนด้านเงินทุนจากบริษัทลีโอนิคส์ เพื่อสร้างต้นแบบ จำนวน 2 ชุด โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์(PC) กับอุปกรณ์ สำรองไฟฟ้า(UPS) จากเดิมที่สื่อสารผ่านทางพอร์ตอนุกรมตามมาตรฐาน RS232 โดยใช้สายอนุกรม มา เป็นรับส่งข้อมูลผ่านทางสายไฟฟ้าโดยมี PLC Module เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อแทน

วัตถุประสงค์

เพื่อวิจัยและพัฒนาชุดรับส่งข้อมูลผ่านทางสายไฟฟ้าสำหรับลีโอนิกส์โปรโตคอลให้ได้ต้นแบบของ PLC Moduleเพื่อใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมต่อไป

รายละเอียดของโครงการ

ชุดรับส่งข้อมูลผ่านสายไฟฟ้าหรือ PLC Module เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อ(Interface Equipment) ชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการรับส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ต้นทางกับอุปกรณ์ปลายทาง(Terminal Equipment) ผ่านตัวกลางคือสายไฟฟ้า(Power Line) โดย PLC Module จะทำการแปลงข้อมูลดิจิทัลที่รับมาให้อยู่ในรูป ของสัญญาณที่สามารถส่งผ่านสายไฟฟ้าได้จากนั้นจะแปลงสัญญาณดังกล่าวกลับคืนสู่สัญญาณดิจิทัลตาม เดิมเพื่อส่งให้กับตัวรับต่อไป ในการแปลงสัญญาณจะใช้ไอซี SSC P200 เป็นตัวควบคุมการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ค (Network Interface Controller) ซึ่งใช้เทคโนโลยี Spread Spectrum Communication ทำหน้าที่ดัง PLC Module มีโหมดการทำงานทั้งหมด 3 โหมดคือ การรับส่งข้อมูลแบบจุดต่อจุด (Point to Point) แบบหลายจุด (Multi-Point) และแบบจุดต่อจุดโดยมีอุปกรณ์ทวนซ้ำสัญญาณ การสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ Terminal กับ PLC Module จะผ่านทางพอร์ตอนุกรมตามมาตรฐาน RS232

งานวิจัยการประมวลสัญญาณโทรคมนาคม (Signal Processing for Telecommunication Section)

มุ่งเน้นวิจัยเกี่ยวกับการประมวลผลสัญญาณต่าง ๆทางด้านโทรคมนาคมเพื่อให้สามารถส่งสัญญาณ ในระบบสื่อสาร ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

โครงการพัฒนาระบบโทรศัพท์เข้ารหัสลับ (Development of Encrypted Telephone)

เครื่องโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์สําหรับติดต่อสื่อสารที่สําคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจําวัน การติดต่อสื่อสาร ของแต่ละบุคคลก็มีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน เช่น สนทนาระหว่างเพื่อน คู่รัก สนทนาธุรกิจ การเมือง การทหาร เป็นต้น ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมให้ความสำคัญในความลับของข้อความสนทนามากน้อยแตกต่างกันไปแต่ระบบ โทรศัพท์ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ยังไม่มีการป้องกันการถูกดักฟังได้ดีพอ โดยเฉพาะระบบโทรศัพท์แบบ ใช้สาย จึงได้มีผู้คิดพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันหรือแจ้งเตือนการถูกดักฟังในรูปแบบต่างๆ ขึ้น เช่น เครื่องโทรศัพท์ เข้ารหัสลับ ซึ่งก็คือ การแปลงข้อมูลเสียงพูดโดยใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ให้เสียงนั้นมีความแตกต่างไปจาก เดิมโดยสิ้นเชิง จนผู้อื่นที่ดักฟังโดยวิธีการปกติไม่สามารถฟังเข้าใจความหมายได้ จะต้องใช้เครื่องที่มีสูตร เดียวกันนี้เท่านั้นจึงจะสามารถแปลงเสียงกลับมาให้ฟังเข้าใจได้ โทรศัพท์เข้ารหัสลับนี้โดยมากเป็นอุปกรณ นําเข้าจากต่างประเทศและบางรุ่นมีราคาแพงกว่าแสนบาทหรือหลายหมื่นบาท จากการที่นักวิจัยในโครง การนี้ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมงานวิจัยและพัฒนาของกองทัพเรือไทย ทําให้ทราบว่าทางกองทัพยังมีความ ต้องการใช้ระบบโทรศัพท์แบบเข้ารหัสลับจํานวนเพิ่มขึ้นอยู่ จึงเห็นว่าน่าจะพัฒนาโทรศัพท์เข้ารหัสลับขึ้น ใช้เองภายในประเทศเพราะนอกจากจะทำได้ราคาถูกกว่าแล้ว ยังเพิ่มความมั่นใจในการรักษาความลับได้ และ สามารถดัดแปลงรูปแบบการใช้งานให้เหมาะกับความต้องการได้เองอีกด้วย โดยนักวิจัยในโครงการนี้ เคยพัฒนาอุปกรณ์ตอบรับโทรศัพท์ดิจิตอล มาแล้ว และโครงการนี้จึงเสนอเพื่อพัฒนาโทรศัพท์เข้ารหัสลับ สำหรับใช้กับระบบโทรศัพท์แบบ fixed line โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ PC ทำหน้าที่แทนเครื่องโทรศัพท์

โครงการเครื่องดักรับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง (Electronics Support Measures : ESM)

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านการประมวลผลสัญญาณในระบบดิจิตอล ได้ก้าวหน้าไปมาก ซึ่งส่งผล ให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระบบดิจิตอล รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการทหาร เครื่องดักรับสัญญาณ ก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ยุคใหม่ในสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟ ฟ้าในย่านความถี่ของเรดาร์ (2-18 GHz) เพื่อระบุว่าสัญญาณที่ตรวจรับได้มาจากทิศทางใดและมีคุณสมบัติ อย่างไร โดยการวิเคราะห์ประมวลผลจากคุณสมบัติของสัญญาณ ทางกองทัพเรือได้เล็งเห็นความสำคัญ ของการเตรียมความพร้อมสำหรับสงครามอิเล็กทรอนิกส์ในยุคปัจจุบัน จึงมีความประสงค์ที่จะนำระบบเครื่อง ดักรับสัญญาณมาใช้ในกองทัพ โดยให้การสนับสนุนในการทำวิจัยร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และ คอมพิวเตอร์แห่งชาต

ความสำคัญและที่มาของการวิจัย

1) เครื่องดักรับสัญญาณเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นในทางการทหารยุคใหม่ ที่ชิงความได้เปรียบเสียเปรียบ กันด้วยเทคโนโลยี แต่เครื่องที่มีใช้อยู่ภายในกองทัพเรือ ในปัจจุบันเป็นเครื่องรุ่นเก่าที่มีอายุกว่า 20 ปี มีสภาพทรุดโทรมและล้าสมัยจึงมีความต้องการระบบใหม่ไว้ใช้งานอยู่ภายในกองทัพ 2) เครื่องในท้องตลาดมีราคาสูงมาก (กว่า 50 ล้านบาท) ทำให้ทางกองทัพไม่มีงบประมาณเพียงพอในการ จัดซื้อและเล็งเห็นว่า หากเครื่องดักรับสัญญาณนี้สามารถผลิตขึ้นเองภายในประเทศ ก็จะสามารถลดงบประ มาณในการนำเข้าเครื่องจากต่างประเทศได้เป็นอันมาก 3) เทคโนโลยีของเครื่องที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีความซับซ้อน ในฐานะผู้ใช้งานที่มีความรู้ไม่มากนักใน เทคโนโลยีนั้นๆ จะมีความยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงในการซ่อมบำรุง

วัตถุประสงค์

เพื่อพัฒนาระบบดักรับสัญญาณเรดาร์ โดยระบบที่จะพัฒนาขึ้นประกอบด้วย สายอากาศเรียงตัวกัน ในแนวระนาบ โดยสายอากาศที่ใช้สามารถรับสัญญาณที่อยู่ในช่วง 2-18 GHz สัญญาณที่รับได้เข้ามาจะถูกแบ่งเป็นช่องสัญญาณย่อยๆ ช่องละ 1 GHz เช่น 2-3, 3-4, , 17-18 GHzเป็นต้นสัญญาณแต่ละช่องจะถูกลดความถี่ลง (RF Down Converter) เพื่อให้ความถี่ของสัญญาณลดลง มาอยู่ในช่วง 0-1 GHz หลังจากนั้นสัญญาณจะถูกสุ่มให้เป็นสัญญาณดิจิตอล (Data Acquisition) ก่อนที่จะ ถูกส่งไปประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ละช่องสัญญาณจะมีส่วนลดความถี่ (RF Down Converter) ที่แตกต่างกัน แต่ส่วนเก็บสัญญาณดิจิตอล (Data Acquisition)และซอฟต์แวร์ประมวลผลจะเหมือนกันโครง การนี้จะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ปี เพื่อออกแบบสร้างเครื่องดักรับสัญญาณเรดาร์จำนวน 1 ช่องสัญญาณ ที่ Bandwidth 1 GHz โดยมีรายละเอียดดังนี้

ระยะที่ 1
- สร้างระบบเก็บสัญญาณ Baseband (Data Acquisition) และ พัฒนาซอฟต์แวร์ประมวลผลสามารถ
ใช้กับสัญญาณความถี่ 0-1 GHz สามารถหามุมและทิศทางของสัญญาณได้ถูกต้อง อย่างน้อย 8 สัญญาณ
- ทดสอบระบบ

ระยะที่ 2
- สร้างระบบดักรับสัญญาณที่สามารถดักรับสัญญาณเรดาร์ในย่านความถี่สูงได้ โดยมีเป้าหมายดังนี้
ใช้กับสัญญาณในย่านความถี่สูงที่อยู่ในช่วง 2-18 GHz จำนวน 1 ช่องสัญญาณสามารถหามุมและทิศทาง
ของสัญญาณได้ถูกต้อง อย่างน้อย 8 สัญญาณ ใช้สายอากาศจำนวน 16 ต้น(อาจเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง)
- ออกแบบระบบหาคุณสมบัติอื่นๆ ของสัญญาณ เช่น PW, PRF, ASR และทดสอบระบบด้วย ซอฟต์แวร
- ออกแบบส่วนแสดงผลและติดต่อผู้ใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ง่าย

โครงการระบบตรวจตราความปลอดภัย AMS-2 (Access Monitoring System AMS-2)

วัตถุประสงค์
1) พัฒนางานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
2) พัฒนางานวิจัยที่สามารถนำไปผลิตเชิงพาณิชย์
3) ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ระบบตรวจตราความปลอดภัยที่พัฒนาขึ้นในประเทศแทนการนำเข้าระบบตรวจตราจากต่างประเทศ
4) พัฒนาระบบตรวจตราความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพในการตั้งเวลาบันทึกภาพ การส่งภาพผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การส่ง short message เตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ การส่งข้อความ เตือนผ่าน E-mail และการสืบค้นภาพด้วยสี
5) พัฒนา Capture Card เพื่อแปลงสัญญาณภาพให้กับส่วนประมวลผล

วิธีการดำเนินงาน
ระบบตรวจตราความปลอดภัย AMS-2 เป็นระบบที่พัฒนาทั้งในส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์และส่วนที่ เป็นฮาร์ตแวร์ ในส่วนของซอฟต์แวร์นั้น ระบบตรวจตราความปลอดภัย AMS-2 ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนที่เป็นการบันทึกภาพและฟังก์ชันการทำงานเสริมอื่นๆ เช่น ฟังก์ชันการตั้งเวลาบันทึกภาพอัตโนมัติ การส่งภาพผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การส่ง short message เตือนผ่านโทรศัพท์มือถือกรณีที่มีผู้บุกรุก ส่งข้อความและภาพผ่าน e-mail ในกรณีที่มีผู้บุกรุก และการสืบค้นข้อมูลภาพโดยใช้สี ในส่วนของฮาร์ต แวร์ จะเป็นการพัฒนา Capture Card ซึ่งใช้ในการแปลงสัญญาณภาพอนาลอกจากกล้องวงจรปิดให้อยู่ ในรูปสัญญาณภาพดิจิตอล สัญญาณภาพดิจิตอลนี้จะถูกนำไปประมวลผลในส่วนของซอฟต์แวร์ต่อไป

โครงการออกแบบสร้างสายอากาศฉลาดโดยใช้ FPGA สำหรับระบบสื่อสารแบบ Wideband

1. เพื่อศึกษาเทคโนโลยีสายอากาศฉลาดสำหรับระบบสื่อสารแบบ Wideband เช่น WiFi หรือ 3G
2. เพื่อสร้างระบบหาทิศทางของสัญญาณ Wideband บน FPGA

งานวิจัยการสื่อสารเชิงแสงและควอนตัม

งานวิจัยระบบการสื่อสารเชิงแสงและควอนตัม (RDT5) จัดตั้งขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 โดยมีเป้าหมายในการทำวิจัยและพัฒนาในช่วงปี พ.ศ. 2549 สองโครงการหลักเกี่ยวกับระบบวิทยาการรหัสลับเชิงควอนตัม (Quantum Cryptography) และโครงการออกแบบและติดตั้งรหัสเทอร์โบสำหรับการสื่อสารเชิงดิจิทัล นอกจากการวิจัยและพัฒนาแล้ว งานวิจัยฯ ยังมีภารกิจในการพัฒนาบุคลากรร่วมกับสถาบันการศึกษา โดยในปัจจุบันงานวิจัยฯ มีพนักงาน 6 คน แบ่งเป็นนักวิจัย 1 คน และผู้ช่วยนักวิจัย 4 คน พนักงานจ้างเหมา 1 คน และความร่วมมือของนักศึกษาทุน TGIST ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก รวมทั้งนักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ(ตลอดทั้งปี)

ข้อมูลเพิ่มเติม:
โทรศัพท์ 0-2564-6900 ต่อ 2591-93
Website: https://www.nectec.or.th/Optical&Quantum

ระบบวิทยาการรหัสลับเชิงควอนตัม (Quantum Cryptography)

การวิจัยและพัฒนาต้นแบบวิทยาการรหัสลับเชิงควอนตัม โดยความปลอดภัยของระบบวิทยาการเข้ารหัสลับ ในปัจจุบันอาศัยสมมุติฐานของความยากของโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ดังนั้นในทางปฏิบัติระบบวิทยาการรหัสลับในปัจจุบัน จึงรับประกันได้แต่เพียงว่าระบบยากต่อการทำลาย ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับระบบวิทยาการรหัสลับเชิงควอนตัม (Quantum Cryptography System) ที่ความปลอดภัยของระบบรับประกันด้วยกฏพื้นฐานต่าง ๆ ของควอนตัมฟิสิกส์ และยังสามารถตรวจจับผู้ดักฟัง (Eavedropper) ได้เสมอ โดย RDT5 จะพัฒนาในส่วนต้นแบบ ระยะทางการสื่อสารระหว่างภาครับและภาคส่ง อัตราการส่งสัญญาณและสาธิตการประยุกต์การใช้งานระบบ ด้วยการเข้ารหัส (Encode) และการถอดรหัส (Decode) ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการสื่อสารในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์

โครงการออกแบบและติดตั้งรหัสเทอร์โบสำหรับการสื่อสารเชิงดิจิทัล

รหัสเทอร์โบถูกกำหนดเป็นหนึ่งในมาตรฐาน และถูกใช้ในระบบสื่อสารตั้งแต่ภาคพื้นดินสู่อวกาศ เช่น ระบบโทรศัพท์ เคลื่อนที่ยุคที่สาม การสื่อสารดาวเทียม การสื่อสารช่องสัญญาณอวกาศ และ ระบบจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น โครงการนี้พัฒนาชุดรหัสเทอร์โบเพื่อปรับปรุงคุณภาพสัญญาณ ลดการใช้แบนด์วิธ การพัฒนาออกแบบและสร้าง จะเน้นให้อุปกรณ์รหัสเทอร์โบให้มีราคาถูก และติดตั้งใช้งานจริง โดยใช้อุปกรณ์เอฟพีจีเอ (FPGA) และซอร์ฟแวร์สำเร็จรูปพร้อมติดตั้ง (IP-Core) ที่สามารถผลักดันออกสู่การพัฒนา (Development) เพื่อภาคอุตสาหกรรม และโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ


ผู้รับผิดชอบ งานพัฒนาเนื้อหาสาระดิจิทัล โทร. 02-564-6900 ต่อ 2353 - 2354
Mail to Web Master

สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355
Mail to Web Master

Valid HTML 4.01 Transitional Valid CSS! Level A Conformance to Web Content Accessibility Guidelines 1.0 พัฒนาด้วย CSS Technology